เทคนิคสอบติดแพทย์ศิริราช (น้องอาร์ท)

         
         

       สวัสดีครับ พี่เชื่อว่าน้องๆ ที่เข้ามาอ่านบทความนี้ หลายๆคนคงตั้งใจมาหาเทคนิคการอ่านหนังสือที่มีประสิทธิภาพหรือเทคนิคการให้กำลังใจตัวเองในสมรภูมิการสอบ กสพท. ที่หนักหน่วง สำหรับตัวพี่เองที่ผ่านประสบการณ์นั้นมาแล้ว จะลองมาสรุปสิ่งที่พี่คิดว่าสำคัญเผื่อเป็นแนวทางให้น้องๆ นำไปใช้นะ :)

หาให้เจอว่าตัวเองถนัดหรือไม่ถนัดวิชาอะไร

พี่ว่าข้อนี้สำคัญมากที่สุดในการเตรียมตัวสอบเลย เพราะเราสามารถวางแผนการอ่านหนังสือได้โดยพิจารณาจากความถนัดของเราเป็นหลัก สำหรับปีพี่สัดส่วนการคิดคะแนน กสพท. จะเน้นไปที่เลขกับอังกฤษ เพราะฉะนั้นเราต้องลองประเมินความสามารถของตัวเองในวิชาพวกนี้ว่าพอจะทำคะแนนได้มากหรือน้อยขนาดไหน อาจจะลองทำโจทย์เพื่อประเมินดูก็ได้ แล้วลองคำนวณดูว่าด้วยเวลาที่มีเหลือเราจะสามารถเพิ่มคะแนนในวิชาเหล่านี้ได้มากขึ้นมั้ย หรือควรจะไปทำคะแนนวิชาอื่นดีกว่า สำหรับพี่ก็จะแบ่งเป็นแต่ละวิชาประมาณนี้

เลข: พี่ชอบอยู่แล้วเลยทวนเนื้อหาไม่นานมาก เน้นทำโจทย์ตอนใกล้ๆสอบเอา บางสูตรถ้า
จำไปเลยจะใช้งานได้เร็วกว่า พยายามอ่านโจทย์ให้ออกว่าเค้าต้องการอะไร แล้วก็ค่อยๆ ไล่ไปว่าจะไปถึงคำตอบได้ต้องทำอะไรบ้าง พอคิดเสร็จแล้วกลับไปอ่านคำถามสุดท้ายที่โจทย์ถามก่อนทุกครั้งนะ กันสะเพร่า ต้องเจอโจทย์หลายๆ แบบ เราถึงจะมีคลังวิธีทำในหัวมากพอจะพลิกแพลงได้ว่าจะไปทางไหนได้บ้างอะ จริงๆ พี่ว่าเลขบางพาร์ทก็เทได้ ตอนนั้นพี่เทความน่าจะเป็นเพราะไม่ใช่เรื่องที่ถนัด 55555 ไปเก็บคะแนนตรงอื่นแทน

อังกฤษ: พี่ทุ่มวิชานี้เยอะสุดเพราะสัดส่วนเยอะ และเพราะพี่ชอบอยู่แล้วด้วยเลยรู้สึกว่าไม่ได้เหนื่อยเวลาต้องทำโจทย์ วิชานี้จะเก็บคะแนนให้ได้ดีในเวลาสั้น ๆ ก็ค่อนข้างยากนะ ต้องใช้ภาษาบ่อยๆ ถึงจะช่วยได้ ค่อยๆ ทำความเข้าใจสะสมไป พี่ไม่ชอบท่องศัพท์ แต่เน้นให้เห็นผ่านตาบ่อยๆ มากกว่า บางทีเราไม่จำเป็นต้องจำความหมายเป๊ะ ๆ ก็ได้ แค่รู้ sense ของมันก็พอ น้องหลายคนจะทำ reading ไม่ทันเพราะนั่งอ่าน passage จนจบแล้วค่อยไปทำโจทย์ ซึ่งจริงๆ แล้วควรไปอ่านโจทย์คร่าวๆ ก่อนว่า...เค้าจะถามอะไรตรงไหนบ้าง พี่แนะนำว่าให้อ่านบ่อยๆ ตาเราจะ skim ได้เร็วเอง

ชีวะกับเคมี: พี่ชอบกลางๆ (แต่ดันมาเรียนหมอ 5555) เคมีพี่เรียนพวกคอร์สสรุปเนื้อหาตอนใกล้ๆ จบ ม.6 เทอม 1 (จริงๆ ช้าไปนะ ไม่ควรทำตาม) แล้วก็ค่อยทำโจทย์ ส่วนชีวะพี่ทำโจทย์เลยแล้วเรื่องไหนที่จำไม่ได้ / ไม่เข้าใจพี่จะกลับไปอ่านใหม่แล้วจด key concept ของหัวข้อนั้นแยกออกมาอ่านต่างหาก (คือพี่คิดว่าถ้าน้องมีเวลาเยอะ อ่านทวนไปหลายๆ รอบดีกว่าแน่นอน แต่ถ้าไม่ทันก็เอาวิธีนี้อาจจะดีกว่า 555 พี่ไม่ใช่สายจำเก่งด้วย อ่านก่อนก็ลืมอยู่ดี เลยเก็บไว้อ่านใกล้ๆ แทน)

ฟิสิกส์: พี่ไม่ชอบวิชานี้เท่าไหร่เพราะทำคะแนนได้ไม่ค่อยดี 555 ตอนนั้นก็เน้นทำโจทย์แล้วพยายามทำความเข้าใจเอา แต่พี่ไม่ได้หวังคะแนนวิชานี้มากเลยไม่ค่อยเครียดว่าจะได้เท่าไหร่ จริงๆ วิชานี้ถ้าน้องเข้าใจอย่างลึกซึ้งจะมีโอกาสเก็บคะแนนได้เยอะเลย แต่พี่ไม่สู้จริงๆ 5555

ไทยกับสังคม: พี่เอาพอผ่านนะ เน้นอ่านพวก key ที่เค้าสรุปมาให้แล้วมากกว่า คะแนนสอบที่ออกมาก็ถือว่าพอใช้ได้

ความถนัดแพทย์: พี่เรียนพิเศษ + ทำโจทย์เลย...ตอนพี่ทำ พี่คาดหวังคะแนนพาร์ทเชื่อมโยงมากสุดละ เพราะมันมักจะมีข้อที่ทำให้แบ่งเด็กเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ได้เต็ม กับกลุ่มที่คะแนนหายไปเยอะ 555 พวกโจทย์เชาวน์ก็ลองฝึกทำจากหนังสือดูก็ได้ ส่วนจริยธรรมพี่ว่าเราพยายามสร้าง mindset ของการเป็นหมอที่ดีให้กับตัวเอง เพราะปีพี่ มันเป็นโจทย์แบบที่ไม่มีโอกาสให้เราแก้คำตอบที่เราเลือกไปแล้วเลย (เพราะจะทำไม่ทัน) พี่เลยคิดว่าความคิดแรกของเรามีผลต่อประเด็นทางจริยธรรมนั้น ๆ อยู่พอสมควร

เพิ่มนิดนึง เวลาทำข้อสอบเก่าถ้าเป็นไปได้ให้จับเวลาทำทุกครั้งนะ จะได้ประเมินตัวเองในวันสอบจริงไปด้วย ทำให้เหมือนกับว่าเป็นการสอบจริงเลย จะได้ไม่ panic เวลาอยู่ในห้องสอบ

หาเหตุผลในการอ่านหนังสือของตัวเองให้เจอ

       พี่เรียนที่มหิดลวิทย์ เพราะฉะนั้นเวลาเพื่อนอ่านหนังสือกันมันจะมีบรรยากาศบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้ละ เราต้องอ่านด้วย 55555 มันก็ไม่เชิงว่าเป็นเหตุผลที่ดีนะ แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้พี่อ่านหนังสือต่อไปได้ สำหรับบางคนอาจจะเป็นเหตุผลที่ตัวเองอยากเข้าหมอ สำหรับบางคนอาจจะเป็นคุณพ่อคุณแม่ ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลอะไร พี่อยากให้น้องพยายามไม่เครียดกับมัน เพราะยิ่งเครียดมันยิ่งจำไม่ได้ การแข่งขันในสนามนี้มันกดดันสูงก็จริง แต่ความเครียดที่พอดีๆ จะทำให้อ่านหนังสือได้มีประสิทธิภาพมากที่สุดนะ

       เทคนิคการอ่านหนังสือของพี่ตอนนั้นคืออ่านแล้วตั้งเป้าหมายว่าวันนี้จะต้องจบหัวข้ออะไร ต้องทำโจทย์กี่ชุด ต้องทวนหัวข้ออะไรที่อ่านไปแล้วบ้างมั้ย แล้วก็ไม่อ่านต่อเนื่องยาวๆ หลายชั่วโมงเพราะมันไม่เวิร์คกับตัวพี่เอง พี่ชอบอ่านประมาณ 1 ชั่วโมงแล้วพักยืดเส้นยืดสายซักหน่อยแล้วค่อยอ่านต่อมากกว่า อันนี้ก็แล้วแต่คนนะ

หาวิธีจัดการความเครียดของตัวเองให้เจอ

       บางทีเวลาอ่านหนังสือนานๆ มันก็เครียดเนอะ เราลองหาเวลาไปทำอะไรที่ช่วยคลายเครียดเราได้บ้าง ก็จะทำให้ชีวิตช่วงเตรียมสอบไม่เหนื่อยจนเกินไป หลังจากอ่านมาตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ อาจจะให้รางวัลตัวเองด้วยการดูหนังสักเรื่อง หรืออาจจะลองคุยกับเพื่อนน้องที่กำลังเตรียมตัวอยู่ก็ได้ หาคนที่รับฟังเราโดยไม่ตัดสินและเข้าใจภาวะที่เรากำลังเผชิญอยู่ หรือน้องอาจจะระบายความเครียดลงไปในกระดาษ นับ 1-10 ในใจพร้อมหายใจเข้า-ออกลึก ๆ เสร็จแล้วขยำกระดาษทิ้ง ให้รู้สึกว่าความเครียดลดลงแล้วค่อยกลับไปอ่านต่อ พี่เป็นคนไม่เครียดง่ายอยู่แล้ว เวลาอ่านหนังสือแล้วเบื่อก็จะไปบ่นกับเพื่อนเอามากกว่า 5555

       นอกจากนี้ ในบางครั้งน้องอาจจะเครียดไปถึงในห้องสอบเลยว่าจะทำได้มั้ย มันอาจจะลนไปหมด พี่อยากฝากน้องไว้ว่าอย่าลืมว่าไม่ว่าจะเตรียมตัวมายังไง สิ่งที่ตัดสินว่าน้องจะได้ไปต่อหรือไม่ขึ้นกับคะแนนในวันที่น้องสอบน่ะแหละ เพราะฉะนั้นช่วงเวลาที่เราควรจะเครียดน้อยที่สุดก็คือในห้องสอบ ทำสมองให้ปลอดโปร่ง ทำใจให้สงบก่อนเข้าห้องสอบ จะได้ไม่เสียใจที่เรา underperform ในห้องสอบนะ

       พอพี่ได้เข้ามาเรียนหมอแบบจริงๆแล้ว พี่ว่ามันยากกว่าตอนสอบเข้ามาเยอะมากเลย 55555 แต่พี่ก็เข้าใจความรู้สึกตอนนั้นแหละว่ามันเครียดและกดดันมากพอที่จะทำให้เด็กม.ปลายคนนึงรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ยากและต้องก้าวผ่านไปในชีวิตให้ได้ พี่ก็ขอเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ในการอ่านหนังสือและเตรียมตัวสอบให้ดีที่สุดเท่าที่น้องจะทำได้นะ ถ้าน้องเต็มที่แล้ว พี่เชื่อว่าผลลัพธ์จะเป็นยังไงน้องก็จะไม่เสียใจกับมันครับ
 

นายกนกพล ไหมอ่อน (พี่อาร์ต)

โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ GPA 3.84

สอบติดคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

คะแนนเฉลี่ย 78.2
(เลข 88 / อังกฤษ 85 / ความถนัดแพทย์ 24.3)

เเท็กที่เกี่ยวข้อง